จำนวนคนอ่านล่าสุด 500 คน

พระกริ่ง สีทอง


พระกริ่ง สีทอง


รายละเอียด :

4/2011

----------------------------------

องค์พระในรูปมิใช่องค์ในบทความ

*************************

พระกริ่งเจ้าฟ้าทองคำ พิมพ์ฐานสูง ร.๔ พ.ศ.๒๓๙๔
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) 
ทรงให้กำเนิดพระกริ่งในประเทศไทย
เมื่อกล่าวถึงเรื่องพระกริ่ง คนส่วนมากก็คงจะเคยได้ยินเรื่อง พระกริ่งปวเรศ 
ซึ่งนิยมนับถือกันว่าเป็นยอดแห่งพระกริ่งในสยามพระกริ่งปวเรศเป็นพุทธศิลป์
ที่สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯ ได้ทรงพระดำริสร้างขึ้นในรัชกาลที่ ๕ 
นับเป็นการให้กำเนิดพระกริ่งขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก 
และได้เป็นแบบอย่างให้มีการสร้างพระกริ่ง กันขึ้นในเวลาต่อมาจนกระทั่งทุกวันนี้ 

นอกจากการสร้างพระสมเด็จพิมพ์ทรงต่าง ๆ แล้ว สมเด็จโตยังได้ศึกษาตำราการสร้างพระกริ่งโบราณ ของสมเด็จพระพนรัตน์ในยุคสมัยอยุธยา โดยให้ช่างหลวงปรับแต่งพิมพ์ทรงของพระกริ่ง จากต้นแบบของพระกริ่งจีนโบราณให้งดงาม เพื่อหล่อพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ในพระราชพิธีต่าง ๆ การจัดสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์ จึงอยู่ในการกำกับดูแลของเชื้อสายพระวงศ์วังหน้า (พระปิ่นเกล้า) ตั้งแต่เริ่มรัชสมัย ร.๔ เรื่อยมา จนหมดยุคของวังหน้าในรัชสมัย ร.๕ ในส่วนของสมเด็จโตนั้น ท่านรับเป็นธุระในส่วนของสงฆ์ในการจัดสร้างพระสมเด็จ พระกริ่ง และพระในรูปแบบอื่น ๆ ด้วย

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
(พระองค์เจ้าฤกษ์ ปญฺญาอคฺโค) 
พระประวัติในเบื้องต้น
นับแต่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส 
สิ้นพระชนม์ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๓๙๖ ในรัชกาลที่ ๔ แล้ว 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ทรงสถาปนาพระเถระรูปใด
เป็นสมเด็จพระสังฆราชอีกจนตลอดรัชกาล เป็นเวลานานถึง ๑๕ ปี 

ฉะนั้น ในรัชกาลที่ ๔ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชจนเกือบตลอดรัชกาล 
เพราะ สมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส 
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่เพียงปีเศษตอนต้นรัชกาลเท่านั้น

เมื่อ สมเด็จฯ กรมพระยาปรมานุชิตชิโนรส 
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ 
ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส
มาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
ก็มิได้โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระเถระรูปใดเป็นสมเด็จพระสังฆราช 
ตลอดช่วงต้นแห่งรัชกาล เป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี 

ฉะนั้น ในช่วงต้นรัชกาลที่ ๕ จึงว่างสมเด็จพระสังฆราชอยู่ถึง ๒๓ ปี 
จึงได้ทรงสถาปนา สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระ 
เป็น สมเด็จพระสังฆราช นับเป็นพระองค์ที่ ๘ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ ๑๘ 
ใน สมเด็จพระบวรราชเจ้า กรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์ 
และ เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก
ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเส็ง เอกศก 
จุลศักราช ๑๑๗๑ ตรงกับวันที่ ๑๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๕๒ 
อันเป็นวันเริ่มสวดมนต์ ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษก 
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ 
จึงได้พระราชทานนามว่า “พระองค์เจ้าฤกษ์” 

ทรงบรรพชาและอุปสมบท 
พ.ศ. ๒๓๖๕ พระชนมายุ ๑๓ พรรษา ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ 
สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ ทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
อยู่ในสำนักพระญาณสมโพธิ (รอด) ครั้งทรงผนวชเป็นสามเณรได้ ๔ พรรษา 
ประชวรไข้ทรพิษต้องลาผนวชออกมารักษาพระองค์ เมื่อหายประชวรแล้ว 
สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพย์ ในรัชกาลที่ ๓ 
ทรงจัดการให้ทรงผนวชเป็นสามเณรอีกครั้งหนึ่ง

พ.ศ. ๒๓๗๒ พระชนมายุครบทรงผนวชเป็นพระภิกษุ 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงโปรดเกล้าฯ 
ให้ทรงลาผนวชออกสมโภช แล้วแห่พร้อมด้วย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น ๒ เจ้าฟ้าอาภรณ์ 
ที่จะทรงผนวชเป็นเป็นสามเณรในเวลานั้น 
ในการทรงผนวชเป็นพระภิกษุนั้น 
สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส 
ขณะทรงดำรงพระอิศริยยศเป็นกรมหมื่นนุชิตชิโนรส
และ พระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์
ทรงได้รับพระนามฉายาว่า “ปญฺญาอคฺโค”

เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้วทรงศึกษาพระปริยัติธรรม
ในสำนัก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ ณ วัดมหาธาตุ นั้นเช่นกัน 

ในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ทรงพระเจริญพระชนมายุกว่า ๕ พรรษา เป็นเหตุให้ทรงเลื่อมใส
ในลัทธิธรรมวินัยตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ 

ภายหลังจึงได้ทรงทำ ทัฬหีกรรม อุปสมบทซ้ำอีกครั้งหนึ่ง ในนทีสีมา 
ตามธรรมเนียมนิยมของพระสงฆ์ธรรมยุตในครั้งนั้น 
โดยมี พระสุเมธาจารย์ (พุทธวังสะ) เป็นพระอุปัชฌาย์ 
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์

สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ทรงศึกษาพระปริยัติธรรมจนทรงแตกฉานในภาษาบาลี 
แต่ไม่ทรงเข้าสอบเพื่อเป็นเปรียญ 
พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก 
ที่เคยพระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ
เมื่อครั้งยังมิได้ทรงเป็นพระราชาคณะให้ทรงถือเป็นเกียรติยศสืบมา 

พระนิพนธ์อันเป็นเครื่องแสดงถึงพระปรีชาสามารถ
ในภาษาบาลีของพระองค์ก็คือ พระนิพนธ์เรื่อง สุคตวิทัตถิวิธาน 
ซึ่งทรงนิพนธ์เป็นภาษาบาลีว่าด้วยเรื่องการวิเคราะห์คืบพระสุคต
อันเป็นมาตราวัดที่มีกล่าวถึงในทางพระวินัย 

นอกจากนี้ ก็ได้ทรงนิพนธ์เรื่องเบ็ดเตล็ดอื่นๆ เป็น ภาษาบาลีไว้อีกหลายเรื่อง 
นับว่าทรงเป็นปราชญ์ทาง ภาษาบาลีที่สำคัญพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์

ในรัชกาล ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ
ตั้งเป็นพระราชาคณะสมณศักดิ์ เสมอพระราชาคณะสามัญ 
พระราชทานตาลปัตรแฉกถมปัดเป็นพัดยศ

พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะยังทรงผนวชอยู่ 
ทรงเป็นพระเถราจารย์ประธานแห่งพระสงฆ์ธรรมยุตินิกาย
ทรงลาผนวชเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นรัชกาลที่ ๔ 
จึงได้ทรงสถาปนาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าฤกษ์ 
เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
ทรงอิศริยยศเป็นประธานาธิบดีแห่งพระสงฆ์ธรรมยุติกนิกาย 
ซึ่งขณะนั้นเรียกว่า “ธรรมยุติกนิกายิกสังฆมัธยมบวรนิเวสาธิคณะ”

ทรงดำรงสมณฐานันดรเป็นที่สองรองจาก สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส 
ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆปริณายก คือสมเด็จพระสังฆราชอยู่ในขณะนั้น 
สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
จึงทรงเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตเป็นพระองค์แรก

พระรูปหล่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีภายในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร 

ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ 
พ.ศ. ๒๔๑๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม 
สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ ขณะทรงพระอิศริยยศ
เป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์ ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ 
สมเด็จพระสังฆราช (สา ปุสฺสเทโว) ขณะทรงดำรงสมณศักดิ์
ที่ พระสาสนโสภณ เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ 

เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จประทับที่พระพุทธรัตนสถานมนทิราราม 
ในพระบรมมหาราชวังชั้นใน 
โดยทรงเชิญเสด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
และนิมนต์พระราชาคณะผู้ใหญ่ต่างวัดเข้าไปอยู่ด้วยพอครบคณะสงฆ์ 
ทรงผนวชอยู่ ๑๕ วันก็ทรงลาผนวช

หลังจากเสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุแล้ว 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภ
ที่จะถวายมหาสมณุตมาภิเษกพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์
ในตำแหน่งที่สมเด็จพระสังฆราช 

แต่สมเด็จมหาสมณเจ้าฯ พระองค์นั้นไม่ทรงรับ 
ทรงถ่อมพระองค์อยู่ว่า เป็นพระองค์เจ้าในพระราชวังบวรฯ 
จักข้ามเจ้านายที่เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอทั้งทรงเจริญพระชนมายุกว่าก็มี 
จักเป็นที่ทรงรังเกียจของท่าน จึงทรงรับเลื่อนเพียงเป็นกรมพระ 
เสมอด้วยเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ในชั้นเท่านั้น 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนพระอิสริยยศเป็น 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๖

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเลื่อนพระอิศริยยศ 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ ครั้งนี้ 
แม้ว่าพระองค์จะไม่รับถวายมหาสมณุตมาภิเษกในที่สมเด็จพระสังฆราช 
แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
ก็ถวายพระเกียรติยศในทางสมณศักดิ์สูงสุดเท่ากับทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
ดังปรากฏในคำประกาศเลื่อนกรมดังนี้ 

“สมควรเป็นสังฆปรินายกประธานาธิบดี มีสมณศักดิ์อิศริยยศ
ใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆ์บรรพสัชทั้งปวงในฝ่ายพุทธจักร” 

ฉะนั้น ในช่วงต้นรัชกาลมาจนถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ 
เป็นเวลา ๒๓ ปี จึงว่างสมเด็จพระสังฆราช

ทรงรับมหาสมณุตมาภิเษก

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๓๔ อันเป็นบั้นปลายแห่งพระชนม์ชีพ
แห่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น 
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ 
จึงทรงถวายมหาสมณุตมาภิเษกเป็นที่สมเด็จพระสังฆราช 

ขณะเมื่อทรงรับถวายมหาสมณุตมาภิเษกนั้น 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ทรงเจริญพระชนมายุถึง ๘๒ พรรษาแล้ว 
มาในคราวนี้ ทรงยอมรับถวายมหาสมณุตมาภิเษก 
เพราะเจ้านายชั้นเดียวกันสิ้นพระชนม์แล้วทั้งสิ้น 
มีเจ้านายผู้ใหญ่เจริญพระชนมายุเหลืออยู่แต่พระองค์เพียงพระองค์เดียว 

การพระราชพิธีมหาสมณุตมาภิเษก 
(ของเดิมเขียน มหาสมณุตมาภิเศก) 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีสงฆ์ในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศวิหาร 
มีเทียนชัยและเตียงพระสวดภาณวารตั้งพระแท่นเศวตฉัตร 
ในนั้น ตั้งพระแท่นสรงที่ศาลากำแพงแก้ว 
โรงพิธีพราหมณ์ตั้งริมคูนอกกำแพงบริเวณนั้นออกมา 
มีสวดมนต์ตั้งน้ำวงด้ายวัน ๑ พระสงฆ์ ๒๐ รูป 

รุ่งเช้าจุดเทียนชัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น
โปรดเกล้าฯ ให้กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงจุด 
พระสงฆ์เข้าพระราชพิธี ๓๐ รูป สวดมนต์ ๓ เวลาและสวดภาณวาร ๓ วัน ๓ คืน 
เช้าวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๓๔ สรงแล้ว เสด็จขึ้นพระแท่นเศวตรฉัตร 
มีประกาศกระแสพระบรมราชโองการทรงสถาปนาแล้ว 

ทรงรับพระสุพรรณบัฏ เครื่องยศ ดอกไม้ธูปเทียนและต้นไม้ทองเงินของหลวงแล้ว 
ทรงถวายศีล เป็นเสร็จการรับมหาสมณุตมาภิเษกเพียงเท่านี้ 
ต่อนั้นทรงธรรม ๔ กัณฑ์อนุโลมตามบรมราชาภิเษกกัณฑ์ทศพิธราชธรรมจรรยา
เปลี่ยนเป็นไตรสิกขาและ ทรงรับดอกไม้ธูปเทียนของ 
พระสงฆ์พระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการ

ประกาศการมหาสมณุตมาภิเศก

“ศุภมัสดุ พระพุทธศาสนกาล เป็นอดีตภาคล่วงแล้ว ๒๔๓๔ 
ปัตยุบันกาล จันทรคตินิยม สสสังวัจฉรกรรติกมาศกาฬปักษ์ 
พาระสีดิถี ศุกรวาร สุริยคติกาล รัตนโกสินทรศก ๑๑๐ 
พฤศจิกายนมาศ สัตตวีสติมวารปริเฉทกาลกำหนด

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ บดินทรเทพยมหามงกุฏ 
บุรุษรัตนราชรวิวงศ์ วรุตมพงศ์บริพัตรวรขัติยราชนิกโรดม 
จาตุรัตนบรมมหาจักรพรรดิราชสังกาศอุภโตสุชาติสังสุทธเคราะหณี 
จักรีบรมนารถ มหามกุฏราชวรางกูรสุจริตมูลสุสาธิต อรรคอุกฤษฐไพบูลย์ 
บูรพาดูลย์กฤาฎาภินิหารสุภาธิการรังสฤษดิ ธัญญลักษดิ 
ธัญญลักษณวิจิตรโสภาคยสรรพางค์ มหาชโนตมางคประณตบาทบงกชยุคล 
ประสิทธิสรรพศุภผลอุดมบรมสุขุมาล ทิพยเทพาวตาร 
ไพศาลเกียรติคุณอดุลยพิเศษสรรพเทเวศรานุรักษ์ วิสิฐศักดิสมญา 
พินิตประชานารถเปรมกระมลขัตยราชประยูร มูลมุขมาตยาภิรมย์ 
อุดมเดชาธิการ บริบูรณ์คุณสารสยามาทินคร วรุตเมกราชดิลก 
มหาปริวารนายกอนันต์ มหันตวรฤทธิเดช สรรพวิเศษศิรินธร 
อเนกชนิกร สโมสารสมมต ประสิทธิวรยศมโหดมบรมราชสมบัติ 
นพปดลเสวตรฉัตราดิฉัตร ศิริรัตโนปลักษณมหาสวามินทร์
มเหศวรมหินทรมหารามาธิราชวโรดม บรมนารถ ชาติอาชาวไศรย 
พุทธาทิไตรรัตนสรณารักษ์ อดุลยศักดิอรรคนเรศราธิบดี 
เมตตากรุณาสีตลหฤทัย อโนปมัยบุญการ สกลไพศาลมหารัษฎาธิบดินทร์ 
ปรมินทรธรรมิกมหาราชาธิราช บรมนารถบพิตรพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ทรงพระราชดำริว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ได้ดำรงพระยศเปน พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ 
แลเปนสังฆปรินายกปธานาธิบดีมีสมณะศักดิใหญ่ยิ่งกว่าบรรดาสงฆบรรพสัช 
ทั่วพระราชอาณาเขตร มาตั้งแต่วันศุกร์ เดือน ๓ ขึ้น ๖ ค่ำ 
ปีระกาเบญจศก จุลศักราช ๑๒๓๕ ล่วงมาจนกาลบัดนี้ 
มีพระชนมายุเจริญยิ่งขึ้นจนไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์พระองค์ใด
ในมหาจักรีบรมราชตระกูลนี้ ที่ล่วงลับไปแล้วก็ดี ที่ยังดำรงอยู่ดี 
จะได้มีพระชนมายุยืนยาวมาเสมอด้วยพระชนมายุสักพระองค์เดียว 
เปนเหตุให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แลพระบรมวงศานุวงศ์ทรงยินดี
มีความเคารพนับถือยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน

อีกประการหนึ่งฝ่ายบรรพชิต บรรดาพระสงฆ์ซึ่งมีสมณศักดิ์ในเวลานี้ 
ก็ไม่มีผู้ใดซึ่งจะมีพรรษาอายุเจริญยิ่งกว่าพระชนมายุแลพรรษา 
ก็ย่อมเปนที่ยินดีเคารพนับถือยิ่งใหญ่ในสมณะมณฑลทั่วทุกสถาน

อนึ่งแต่ก่อนมา เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
พระราชทานมหาสมณุตมาภิเศกแด่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ 
กรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ด้วยทรงพระราชปรารถ
พระชนมายุซึ่งเจริญยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง

อีกประการหนึ่ง ด้วยการที่ทรงผนวชมาช้านาน 
ทรงคุณธรรมทางฏิบัติในพระพุทธสาสนา 
แลได้เปนครูอาจารย์แห่งราชตระกูลแลมหาชน เป็นอันมากเป็นที่ตั้ง 
ก็ถ้าจะเทียบแต่ด้วยคุณธรรมการปฏิบัติในทางพระพุทธสาสนาฤา
ด้วยการที่เป็นครูอาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์แลมหาชนเปนอันมากนี้
ก็พิเศษกว่า ด้วยได้ทรงเปนพระอุปัธยาจารย์ในพระเจ้าแผ่นดิน
และพระบรมวงศานุวงศ์มีเจ้าฟ้า แลพระองค์เจ้าต่างกรม แลพระองค์เจ้า 
จนตลอดข้าราชการเป็นอันมาก จนถึงในครั้งนี้ก็ยังได้ทรงเปนพระอุปัธยาจารย์
ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฏราชกุมาร 
ซึ่งยังทรงผนวชเปนสามเณรอยู่ในบัดนี้ 

เพราะฉะนั้นบรรดาบรมราชตระกูลแลตระกูลทั้งปวงทั้งในสมณะมณฑล
ทั่วทุกหมู่เหล่าย่อมมีความเคารพนับถือในพระองค์ทั้งสองประการ 
คือเป็นพระเจ้าบรมวงศ์ซึ่งทรงมีพระชนมายุเจริญ
ยิ่งกว่าพระบรมวงศานุวงศ์ทั้งปวง แลทั้งเปนพระอุปัธยาจารย์ด้วยอีกฝ่ายหนึ่ง 

จึงมีความนิยมยินดีที่จะใคร่ให้ได้ดำรงพระยศอันยิ่งใหญ่ 
เสมอกรมสมเด็จพระปรมานุชิตชิโนรส โดยรับมหาสมณุตาภิเศกแลเลื่อนกรม 
เป็นพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมสมเด็จพระ ให้เต็มตามความยินดีเลื่อมใส 
จะได้เปนที่เคารพสักการบูชา เป็นที่ชื่นชมยินดีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
แลพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชการผู้ใหญ่ผู้น้อยแลอเนกนิกรมหาชนบรรดา
ซึ่งนับถือพระพุทธศาสนาทั่วหน้า

จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสิงหนาทโปรดเกล้าฯ 
ให้ตั้งการมหาสมุตาภิเศก แลเลื่อนพระอิสริยยศ 
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ขึ้นเปนกรมสมเด็จพระ มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัตรว่า

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ บวรรังสีสุริยพันธุ์ 
ปิยพรหมจรรย์ธรรมวรยุตร ปกิบัติสุทธิคณะนายก ธรรมนิติสาธกปวรัยบรรชิต 
สรรพธรรมิกกิจโกศล สุวิมลปรีชาปัญญาอะค มหาสมณุดม บรมพงศาธิบดี 
จักรีบรมนารถ มหาเสนานุรักษ์อนุราชวรางกูร ปรมินทร 
บดินทร์สูริย์หิโตปัธยาจารย์ มโหฬารเมตยาภิธยาไศรย 
ไตรปิฎกโหรกลาโกศล เบญจปดลเสวตรฉัตร 
ศิริรัตโนปลักษณมหาสมณุตมาภิเศกาภิสิต ปรมุกฤฐสมณศักดิธำรง 
มหาสงฆปรินายก พุทธสาสนดิลกโลกุตม มหาบัณฑิตย์ สุนทรวิจิตรปฏิภาณ 
ไวยัติญาณมหากระวี พุทธาทิศรีรัตนไตรยคุณารักษ์ 
เอกอรรคมหาอนาคาริยรัตน์ สยามาธิโลกยปฏิพัทธพุทธบริสัษยเนตร 
สมณคณินทราธิเบศร์ สกลพุทธจักโรปการกิจ 
สฤษดิศุภการมหาปาโมกษประธานวโรดม บรมนารถบพิตร
เสด็จสถิตย์ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร พระอารามหลวง (มุสิกนาม) 

ให้ทรงศักดินา ๑๕๐๐๐ ตามพระราชกำหนด
อย่างพระองค์เจ้าต่างกรมตำแหน่งใหญ่ ในพระบรมมหาราชวัง
แลดำรงพระยศฝ่ายสมณศักดิ์เป็นเจ้าคณะใหญ่แห่งพระสงฆ์ทั้งกรุงเทพฯ 
แลหัวเมืองทั่วพระราชอาณาเขต พระราชทานนิตยภัทรบูชาเดือนละ ๑๒ ตำลึง 

ขออาราธนาให้ทรงรับธุระพระพุทธศาสนาเปนภาระสั่งสอน
ช่วยระงับอธิกรณ์พระภิกษุสงฆ์สามเณรทั่วไป
โดยสมควรแก่พระอิศริยยศสมณศักดิ์ 
จงทรงเจริญพระชนมายุพรรณศุขพลปฏิภาณคุณสารสมบัติสรรพศิริสวัสดิ 
พิพัฒมงคล วิบูลยศุภผลจิรฐิติกาลในพระพุทธศาสนาเทอญฯ” *

พระอวสานกาล

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 
รัชกาลที่ ๕ ตลอดถึงพระบรมวงศานุวงศ์เป็นอันมาก
ทรงเป็นที่ปรึกษาในกิจการบ้านเมืองที่สำคัญๆ 
ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ มาตลอดพระชนมชีพ
ดังจะเห็นได้จากความในพระราชหัตถเลขา
ที่กราบทูลสมเด็จพระมหาสมณเจ้าพระองค์นั้น บางตอนว่า 

“ทุกวันนี้หม่อมฉันเหมือนตัวคนเดียว 
ได้อาศัยอยู่แค่สมเด็จกรมพระกับสมเด็จเป็นที่พึ่งที่ปรึกษา 
เป็นพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ ขอให้ทรงพิเคราะห์การให้ละเอียดด้วย”

ในบั้นปลายแห่งพระชนมชีพ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ทรงประชวรต้อกระจก ในที่สุดพระเนตรมืด ครั้ง พ.ศ. ๒๔๓๕ 
ทรงประชวรพระโรคกลัดพระบังคนหนัก จัดเข้าในพระโรคชรา 
สิ้นพระชนม์เมื่อเช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๓๕ 
ตรงกับวันขึ้น ๘ ค่ำ เดือน ๑๑ สิริรวมพระชนมายุได้ ๘๓ พรรษา 

ทรงครองวัดบวรนิเวศวิหาร เป็นเวลา ๔๑ ปี 
ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๑๑ เดือน ๑ วัน 
ก็สิ้นพระชนม์ ได้พระราชทานพระโกศกุดั่งใหญ่ทรงพระศพ

พระศพ สมเด็จฯ กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ประดิษฐานอยู่ ณ พระตำหนักเดิม (คือที่เสด็จประทับ) วัดบวรนิเวศวิหาร
เป็นเวลาถึง ๘ ปี จึงได้พระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุ ท้องสนามหลวง 
เมื่อวันที่ ๑๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๔๓ 

ทรงสถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนาม

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ 
ขณะเมื่อทรงดำรงพระสมณฐานันดรเป็นสมเด็จพระมหาสังฆปริณายก
ที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น ยังไม่มีคำนำพระนามที่บ่งบอกถึงพระเกียรติยศ 
ในทางสมณศักดิ์ คือเรียกพระนามไปตามพระอิศริยยศแห่งบรมราชวงศ์ว่า 
“พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมสมเด็จพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์” 

มาในรัชกาลที่ ๖ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว 
จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเปลี่ยนคำนำพระนามเป็น 
“สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์” 
ในคราวเดียวกันกับที่ทรงสถาปนา 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส 
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ จึงได้เรียกกันว่า 
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ แต่นั้นเป็นต้นมา 

หมายเหตุ : อักขรวิธีตามต้นฉบับ 

ประวัติและความสำคัญของวัดบวรนิเวศวิหาร 
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=26031

โทร: 0971297060

ราคา: 0 บาท

หมวดพระ: พระยอดนิยมทั่วไป-พระกริ่ง-ลอยองค์-รูปหล่อ

0 ความคิดเห็น

กรุณาเข้าสู่ระบบ ไม่สามารถโพสบทความหรือแสดงความคิดเห็นได้ เข้าสู่ระบบ